ปัจจุบันระบบจดจำใบหน้า หรือ Face Recognition มักถูกนำมาใช้ในงานที่เกี่ยวกับระบบรักษาความปลอดภัยแบบเข้มงวด เช่น ระบบตรวจสอบบุคคลเข้า-ออกพื้นที่อาคารสำนักงาน พื้นที่ปฏิบัติการภายในสนามบิน ใช้งานควบคู่กับกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจสอบใบหน้าของผู้ต้องสงสัย เพื่ออ้างอิงกับฐานข้อมูลอาชญากร ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถรักษาความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หลายคนก็คุ้นเคยและมีประสบการณ์การใช้งาน Face Recognition กันมาแล้วในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ระบบ Face ID ที่ใช้ปลดล็อกการเข้าใช้งานสมาร์ทโฟน การสแกนใบหน้าเพื่อการทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี Face Recognition ยังคงมีข้อจำกัด เช่น ระบบไม่สามารถจับภาพหรือมีแนวโน้มแสดงผลคลาดเคลื่อนเมื่อคนผิวสีเข้มเข้าใช้งาน ซึ่งเกิดจากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างไม่เพียงพอหรือจำกัดเพียงคนเฉพาะกลุ่ม
“มีการทดสอบพบว่าระบบจดจำใบหน้ามีความผิดพลาดมากขึ้น ถ้าใบหน้าที่ทดสอบเป็นผู้หญิงผิวสี” จากงานวิจัยอคติในการจดจำใบหน้าของ Joy Buolamwini M.I.T. Media Lab และ Timnit Gebru ผู้นำทีมปัญญาประดิษฐ์ด้านจริยธรรมของ Google ในปี 2561
Timnit อธิบายว่า เพราะอะไรเธอจึงเชื่อว่าการจดจำใบหน้า เป็นสิ่งที่อันตรายเกินกว่าที่จะนำมาใช้ในตอนนี้
“เราพบความไม่เท่าเทียมสูงมากในระบบการจดจำใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างผู้ชายที่มีผิวจางและผู้หญิงผิวคล้ำ ลองจินตนาการดูว่าในการคัดกรองมะเร็งผิวหนังที่ต้องสังเกตความผิดปกติของผิวหนัง โดยที่เราใช้เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ในการตรวจจับ ผลที่ได้ผิวของคนผิวคล้ำไม่แสดงผลหรือไม่ถูกตรวจจับเลยด้วยซ้ำ”
ในส่วนของ IBM ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี มีการประกาศออกมาว่าจะหยุดขายและพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบจดจำใบหน้าสำหรับ ‘การเฝ้าระวัง’ การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อสหรัฐฯ เผชิญกับการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจหลังจากการจับกุมจอร์จชายผิวสีอย่างรุนแรง IBM มีจดหมายถึงสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ระบุว่า ระบบ AI ที่ใช้ในการบังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องมีการทดสอบเพื่อความอคติ และหัวหน้าผู้บริหารของ IBM อาร์วินด์ คริชนา (Arvind Krishna) กล่าวว่า การต่อสู้เพื่อมนุษยชนเป็นเรื่องเร่งด่วน
“IBM ต่อต้านอย่างแน่วแน่ และจะไม่อภัยให้กับการใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าสำหรับการสอดแนมมวลชน การทำข้อมูลทางเชื้อชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน”
อย่างไรก็ตาม IBM จะทำอย่างที่ว่าได้หรือไม่ และเทคโนโลยีจดจำใบหน้าสำหรับการใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติด้านอื่นๆ จะเปลี่ยนแปลงหรือคงเดิมกันอย่างไรบ้าง ก็ต้องติดตามกันต่อไป
credit: bangkokbiznews, creativetalk